มารู้จัก Prebiotic และ Probiotic คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร?
เชื่อว่าหลายคนคงจะสับสนกันมานานระหว่าง "พรีไบโอติก" และ "โพรไบโอติก" บางคนก็คิดว่าเป็นสารอาหารชนิดเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ ทั้งสองตัวนี้เป็นคนละชนิดกัน ทำหน้าที่คนละแบบกัน และแตกต่างกันดังนี้
พรีไบโอติก
พรีไบโอติก (Prebiotic) คือ ไฟเบอร์ชนิดหนึ่ง เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก อาหารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรียดี และจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติก และยังมีคุณสมบัติช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้ด้วย
แหล่งอาหารที่มี Prebiotic มักพบได้ในผักผลไม้ที่มีใยอาหารมาก เช่น หัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง กล้วย แอปเปิ้ล เป็นต้น หรือ ในรูปแบบสารประกอบเชิงซ้อนของคาร์โบไฮเดรต เช่น สารกลุ่มอินูลิน และ ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์
โพรไบโอติก
โพรไบโอติก (Probiotic) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดดี ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบอื่นๆ ของร่างกายเมื่อมีจุลินทรีย์อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม บางครั้งเรียกว่า “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต” มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง ช่วยผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ ดังนั้น โพรไบโอติก จึงช่วยทำให้เกิดความสมดุลทั้งระบบของร่างกายนั่นเอง
แหล่งอาหารที่มี Probiotic สามารถพบในอาหารที่ผ่านกระบวนการหมักบางชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ ถั่วเหลืองหมัก ชาหมัก ขิงดอง เป็นต้น
กล่าวคือ พรีไบโอติก เป็นอาหารของ โพรไบโอติก นั่นเอง ดังนั้นหากรับประทานอาหารพวกพรีไบโอติกเยอะ ก็จะช่วยให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกทำงานได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อจุลินทรีย์ดีทำงานกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคได้ดี ก็จะได้ประโยชน์ด้านปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ช่วยเรื่องการขับถ่าย ลดอาการท้องผูก ทั้งยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้นด้วย