ไฟโตนิวเทรียนท์ สารอาหารจากพืช คุณประโยชน์ล้นเหลือ
ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) คือ สารชีวภาพสำคัญที่พบได้เฉพาะในพืช ร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างเองได้ เป็นสารที่พืชผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เช่น ใช้ในการสังเคราะห์แสง, ไล่ศัตรูพืช, ช่วยทำให้พืชแข็งแรง แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ เมื่อคนเรารับประทานผักผลไม้เข้าไปก็จะได้รับประโยชน์จากไฟโตนิวเทรียนท์ด้วยเช่นกัน
อนุมูลอิสระ (Free Radical) สนิมร้าย กัดกร่อนร่างกาย ต้านได้ด้วยไฟโตนิวเทรียนท์
หลายคนคงรู้ว่า อนุมูลอิสระ นั้น คือโมเลกุลที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ซึ่งไม่เสถียร ไวต่อการทำปฏิกิริยากับโมเลกุลอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์นั้นเกิดความเสียหายและเสื่อมสภาพลง ส่งผลเสียมากมาย ไม่ว่าจะทำให้คนเราแก่ก่อนวัย มีริ้วรอยมากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่างๆ มากมาย เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ และอาจเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
วิธีการป้องกัน ก็คือเราต้องหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ เช่น มลพิษ หรือพฤติกรรมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ความเครียด รวมถึงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) อย่าง ไฟโตนิวเทรียนท์ ซึ่งมีคุณประโยชน์ช่วยต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ สามารถซึมลึกถึงระดับเซลล์ และช่วยให้เซลล์ในร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น
โดยไฟโตนิวเทรียนท์ ที่พบในพืชผักผลไม้นั้นมีมากกว่า 25,000 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายที่แตกต่างกันไป แบ่งตามกลุ่มสารอาหารที่ได้จากผักและผลไม้ 5 สี ดังนี้
- สีแดง : ให้ไลโคปีน กรดเอลลาจิก ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสุขภาพต่อมลูกหมาก สุขภาพดีเอ็นเอ เสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด พบมากใน มะเขือเทศ สตรอเบอร์รี่ แตงโม และแอปเปิ้ลแดง เป็นต้น
- สีเหลือง/สีส้ม : ให้เบต้า-แคโรทีน เฮสเพอริดิน ช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ เสริมการทำงานระบบภูมิคุ้มกัน เสริมสุขภาพดวงตา รักษาความชุ่มชื้นของผิว ส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างสมบูรณ์แข็งแรง พบมากใน ส้ม มะนาว มะขาม มะละกอ และแครอท เป็นต้น
- สีเขียว : ให้อีจีซีจี ลูทีน/ซีแซนทิน ไอโซฟลาโวน ไอโซไธโอไซยาเนท ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสุขภาพของเซลล์ สนับสนุนการทำงานของหลอดเลือดแดง สุขภาพปอด และส่งเสริมการทำงานของตับ พบมากใน บร็อคโคลี ผักบุ้ง ผักคะน้า และตำลึง เป็นต้น
- สีม่วง/สีน้ำเงิน : ให้แอนโธไซยานิน เรสเวอราทรอล ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยระบบความจำ ช่วยสุขภาพหัวใจ สนับสนุนการทำงานของหลอดเลือดแดง พบมากใน บลูเบอร์รี กะหล่ำปลีสีม่วง องุ่น และลูกพรุน เป็นต้น
- สีขาว : ให้อัลลิซิน เควอซิทิน ช่วยเสริมสุขภาพกระดูก เสริมสุขภาพการไหลเวียนโลหิต สนับสนุนการทำงานของหลอดเลือดแดง พบมากใน กระเทียม หัวหอม และต้นหอม เป็นต้น
จะเห็นว่าไฟโตนิวเทรียนท์นั้นประกอบไปด้วยสารที่ได้จากผักและผลไม้ที่มีด้วยกัน 5 สี การเลือกบริโภคทานผักผลไม้ที่มีสีสันที่หลากหลายในแต่ละวันจะทำให้เราได้รับคุณประโยชน์จากไฟโตนิวเทรียนท์อย่างครบถ้วน รวมถึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพ